วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มรดกทางโบราณคดี


จังหวัดสตูล มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นโบราณสถาน และโบราณวัตถุอยู่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตามบริเวณที่ตั้งเมืองสตูล ได้มีชุมชนโบราณมาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว
แหล่งโบราณคดีเขาโต๊ะพญาวัง
            เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นภูเขาหินปูนลูกโดด ทางด้านตะวันออกเป็นเพิงผา มีถ้ำตื้น ๆ ได้พบเครื่องมือหิน ๒ ชิ้น ทางทิศใต้ของถ้ำกลาง
            วัตถุชิ้นที่ ๑  เป็นเครื่องมือสะเก็ดหิน ทำจากหินปูนเป็นรูปครึ่งวงกลม ค่อนข้างบาง มีความคมที่ส่วนโค้ง ลักษณะเป็นเครื่องมือสำหรับงานขุด ยาว ๗.๖ เซนติเมตร กว้าง ๕.๖ เซนติเมตร และหนา ๑.๕ เซนติเมตร
            วัตถุชิ้นที่ ๒  เป็นสะเก็ดหินปูนรูปหลายเหลี่ยมค่อนข้างบาง มีความคมหลายด้าน มีความยาว ๗.๑ เซนติเมตร กว้าง ๕.๗ เซนติเมตร หนา ๑.๓ เซนติเมตร
แหล่งโบราณคดีเขาโต๊ะนางดำ
            เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นภูเขาหินปูน อยู่ในเขตตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า โบราณวัตถุที่พบ เป็นประเภทหิน และประเภทดินเผา
            ประเภทหิน  เป็นหินลับ ๕ ชิ้น ทำจากหินควอตซ์ และหินปูน ค้อนหิน ๒ ชิ้น ทำจากหินควอตซ์ และหินทราย สะเก็ดหิน เป็นสะเก็ดหินปูน และหินควอตซ์ที่แตกกะเทาะออกมาจากแกนหิน ก้อนหินรูปทรงหลายเหลี่ยม แต่ละด้านเป็นรอยตรงเรียบ
            ประเภทดินเผา  ได้พบเศษภาชนะดินเผา จำนวน ๑๔ ชิ้น แบ่งตามลักษณะการตกแต่งได้ ๓ แบบ คือ แบบเรียบ เนื้อหยาบ ไม่มีกรวดปน ไส้ในเป็นสีดำ แบบขัดมัน เนื้อหยาบ มีกรวดปน ไส้ในสีดำ แบบลายประทับ เนื้อหยาบ มีกรวดปน ไส้ในสีดำ

แหล่งโบราณคดีเขาขุมทรัพย์


 เป็นเทือกเขามีถ้ำตื้น ๆ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเทือกเขา อยู่ในเขตตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า พบโบราณวัตถุประเภทหิน และประเภทดินเผา 
            ประเภทหิน  เป็นหินลับ ทำด้วยหินทรายมีลักษณะเป็นแท่ง ยาวหนา มีรอยการขัดฝน เป็นร่องลึกลงไปในเนื้อหิน อีกชิ้นหนึ่งเป็นก้อนหินปูนรูปสามเหลี่ยมค่อนข้างหนา หน้าหนึ่งเป็นร่องคล้ายถูกขัดที่ผิวของหิน หินสะเก็ดกรวด เป็นหินกรวดท้องน้ำ มีรอยแตกกระเทาะ แต่ไม่มีลักษณะเป็นเครื่องมือที่ชัดเจน 
            ประเภทดินเผา  พบเศษดินเผา ๖ ชิ้น เนื้อหยาบมีกรวดปน ตกแต่งผิวเรียบ ๑ ชิ้น เคลือบด้วยน้ำดินสีแดง ทั้งด้านนอกและด้านใน ๑ ชิ้น และตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบด้านนอก ๑ ชิ้น ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ เนื้อหยาบมีกรวดปน ๓ ชิ้น 
แหล่งโบราณคดีถ้ำหอย 
            อยู่ในถ้ำหินปูน ที่บ้านปาล์มพัฒนา กิ่งอำเภอมะนัง พบเศษภาชนะดินเผา จำนวนมาก เป็นเศษภาชนะดินเผา ผิวลายเชือกทาบ ผิวขัดมัน และหม้อสามขา 
แหล่งโบราณคดีถ้ำลาชิบ และถ้ำแคล้ว ๑ 
            อยู่ที่เพิงผา ในเขตบ้านปาล์มพัฒนา กิ่งอำเภอมะนัง พบเครื่องมือหินก่อนประวัติศาสตร์ 
แหล่งโบราณคดีถ้ำหัวลิง 
            อยู่ในโพรงลึกของถ้ำในภูเขาหินปูน อยู่ในเขตตำบลน้ำผุด อำเภอละงู พบเศษภาชนะดินเผาประดับตกแต่งผิวด้วยลวดลายขูดขีด
            แหล่งโบราณคดีถ้ำภูผาเพชร  อยู่ในถ้ำขนาดใหญ่ ภายในมีโพรงลึกเป็นคูหากว้าง ที่คูหาด้านทิศตะวันตกพบเศษภาชนะดินเผา และเปลือกหอย ชิ้นส่วนกระดูกของมนุษย์
            แหล่งโบราณคดีถ้ำโพธิยอม  เป็นเพิงผาอยู่ที่บ้านหนองราโพธิ ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู พบเศษภาชนะดินเผาเปลือกหอย และกระดูกมนุษย์
ภาษาและวรรณกรรมพื้นบ้าน 
      ชาวเมืองสตูลมีภาษาและวรรณกรรมพื้นบ้านที่มีลักษณะแตกต่าง จากจังหวัดอื่น ๆ ใน ๓ เรื่องคือภาษาถิ่น เพลงกล่อมเด็ก ตำนาน และนิทานพื้นบ้าน
            ภาษาถิ่น  มีอยู่สองลักษณะคือ ภาษาถิ่นใต้และภาษาถิ่นมลายู ภาษาถิ่นใต้มีลักษณะคล้านสำเนียงของชาวพัทลุง และสงขลาเนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกัน ส่วนภาษาถิ่นมลายูนั้น เนื่องจากเจ้าเมืองในอดีตของเมืองสตูลสืบเชื้อสายมาจากไทรบุรี ซึ่งใช้ภาษามลายู ชาวสตูลจึงใช้ภาษาถิ่นใต้ปนกับ ภาษามลายู ซึ่งไม่ปรากฏในจังหวัดใกล้เคียงอื่น ๆ 

           แหล่งอ้างอิง : http://heritage.mod.go.th/nation/oldcity/satun4.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น