วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ย้อนอดีตคนจีนอพยบสู่เมืองสตูล

        บรรพบุรุษของชาวสตูลนอกจากจะเป็นเชื้อสายมลายูและ ชาวสยามแล้ว ยังมีคนเชื้อสายจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองนี้ หลักฐานจากบันทึกของร้อยโทเจมส์  โลว์ และ ร้อยเอกเฮ็นรี่ เบอร์นี่ ทูตชาวอังกฤษเดินทางผ่านตำบลสโตย - ละงู ระหว่างปี พ.ศ ๒๓๖๗ - ๒๓๖๘ ช่วงที่สตูลกลายเป็นเมืองร้างไม่มีผู้ปกครองนั้น รายงานว่าผู้คนที่อาศัยใกล้คลองมำบัง ประกอบด้วยคนเชื้อสาย มลายู สยาม และ จีน คนเชื้อสายมลายูมีมากที่สุด ถือเป็นชนกลุ่มใหญ่ ชาวสยามหมายถึงคนไทยภาคไต้ ซึ่งพื้นเพเป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และ สงขลา ไม่เรียก คนไทย แต่ใช้คำว่า คนสยามบันทึกของทูตอังกฤษรายงานว่า มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ตามชุมชนมำบัง ประกอบอาชีพทำนาและค้าขาย อีกแห่งหนึ่งคือที่ท่าเรือละงู ก็มีชาวจีนกลุ่มน้อยประกอบอาชีพ ตั้งถิ่นฐานที่บริเวณปากนำ้ำ หรือคลองละงู แสดงว่าคนจีนอพยบเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของเมืองไทรบุรี คือท้องที่ตำบลสโตย - ละงู ตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ หรือตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย คือนับเวลากว่า ๒๐๐ ปีล่วงมาแล้ว
        ตามประวัติศาสตร์คนจีนอพยบมาจากแผ่นดินใหญ่ เข้ามาตั้งหลักแหล่งที่เมืองมะละกา ทางตอนใต้ของแหลมมาลายู ตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยนั้นมะละกาเปิดเป็นเมืองท่าให้ชาวตะวันตก าหรับ อินเดีย และจีนเข้ามาค้าขายสินค้า ชาวจีนกลุ่มใหญ่เป็นเผ่าฮกเกี้ยนพื้นเพมาจากมณฑลฟูเจี้ยน             ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวัน จีนฮกเกี้ยนเมืองมะละกาสร้างฐานะได้อย่างรวดเร็ว นิยมแต่งงานกับชาวมลายูพื้นเมือง ถ้ามีลูกชายเรียกว่า บ้าบ๋า เป็นหญิงเรียกว่า โนนยา เมื่อพวกโปรตุเกสเข้ามาปกครองมะละกา สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เกิดมีการผสานวัฒนธรรมระหว่างจีนกับโปรตุเกส
ที่เด่นชัดคือการสร้างอาคารแบบชิโนเปอร์จุกีส สถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก หรือระหว่างจีนกับฝรั่งชาติโปรตุเกสนั่นเอง

        ต่อมาคนจีนได้อพยบขึ้นไปตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือ สู่ดินแดนในอารักขาของสยามได้แก่เกาะปีนังของเมืองไทรบุรี และเหนือสุดจนถึงเกาะภูเก็ต เนื่องจากเกาะทั้งสองเป็นทำเลค้าขายสำคัญ โดยเฉพาะเกาะปีนังจีนฮกเกี้ยนได้เข้าครอบครองจนกลายเป็นชุมชนคนจีนไปโดยปริยาย คนจีนได้ชื่อว่าเก่งกาจด้านการค้าขาย ขยันขันแข็งในการทำมาหากินเป็นนักแสวงโชค ชอบงานบุกเบิกและท้าทาย ชาวจีนจากเกาะปีนังยังไม่หยุดยั้งแค่นั้นยังหมายตาเกาะภูเก็ตไว้อีกแห่งหนึ่ง จีนฮกเกี้ยนกลุ่มใหญ่จึงทะลักเข้าสู่เกาะภูเก็ต  มุ่งสร้างเกาะแห่งนี้ให้เจริญเหมือนปีนังเช่นกัน  เฉพาะตำบลสโตย - ละงูซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองไทรบุรี ถือเป็นตำบลห่างไกลไม่ค่อยเจริญนัก ถือเป็นเส้นทางผ่านของจีนฮกเกี้ยน ก็มีคนจีนกลุ่มหนึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐาน บุกเบิกอาชีพ เช่น ตัดฟืนเผาถ่านมาช้านานแล้ว ตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ หรือ ตอนปลายกรุงศรอยุธยาก็ได้ คนเชื้อสายจีนจึงอาศัยอยู่ในแผ่นดินเมืองสตูลไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ปีล่วงมาแล้ว สืบสาวต้นตระกูลส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมืองมะละกา เมื่อสมัยต้นกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
        ล่วงมาสมัยของพระยาภูมินารถภักดี ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคที่คนจีนกลุ่มใหญ่จากเกาะปีนัง อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองสตูล ทั้งนี้ เป็นผลจากการชักชวนของพระยาภูมินารถภักดี ต้องการให้คนจีนมาบุกเบิกด้านการค้าขาย สร้างสวนพริกไทยที่สุไหงอุเปะห์ หรือ ทุ่งหว้า ขนส่งผลผลิตพริกไทยไปขายที่ตลาดปีนัง มีเรือกลไฟแล่นระหว่างทุ่งหว้ากับปีนัง เศรษฐกิจและการค้าในเมืองสตูลเจริญขึ้นอย่างทันตาเห็น มีการนำสถาปัตยกรรมชิโนปอร์จุกิส เข้ามาสู่เมืองสตูลครั้งแรก ได้แก่ อาคารตึกแถวแบบร้านค้าย่านถนนบุรีวานิช และตลาดทุ่งหว้า กับบ้านพักหรูหราเป็นเรือนตึกหลังใหญ่ ได้แก่ คฤหาสน์กูเด็น ชื่อหนึ่งเรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล สถาปัตยกรรมแบบชิโนปอร์จุกีส ถือเป็นแบบผสมผสานระหว่างโปรตุเกสกับจีน ต้นกำเนิดจากเมืองมะละกามาก่อนภายหลังได้แพร่หลายไปสู่เมืองปีนังและแหลมมลายูตอนบน พบได้ตามเมืองต่างๆ ที่มีคนจีนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐาน มาเลเซียมีมากที่มะละกา ไทปิง ปีนัง อลอรสตาร์ ฯลฯ เมืองไทยพบเห็นได้ทั่วไปที่จังหวัดภูเก็ต ตรัง เฉพาะที่สตูลหลักฐานสำคัญคือคฤหาสน์กูเด็น และอาคารตึกแถวย่านถนนบุรีวานิช และตลาดทุ่งหว้า แต่ส่วนใหญ่มีการรื้อถอนไปมากแล้ว เนื่องจากไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากลูกหลาน คนรุ่นหลังก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญเป็นเรื่องทีี่น่าเสียดายอย่างยิ่ง
        หลักฐานจากหนังสือ บันทึกจดหมายเหตุพระยาภูมินารถภักดี พ.ศ. ๒๔๓๙ - ๒๔๔๓ หน้า ๙๖ มีการสำรวจจำนวนราษำรในเมืองสตูล เมือปี พ.ศ. ๒๔๔๒ พบว่าเมืองสตูลมีประชากรทั้งสิ้น ๒๖,๙๔๐ คน ถือเป็นการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับเวลาถึงปัจจุบันล่วงเลยมาแล้ว ๑๐๐ ปีพอดี ประกอบด้วยคนเชื้อสายมลายู คนไทย( สยาม) และเชื้อสายจีน แบ่งออกเป็น เชื้อสายมลายู กับคนไทย( สยาม)  ๒๒,๒๖๐ คน คนเชื้อสายจีน ๔,๖๘๐ คน มีรายละเอียดเกี่ยวกับถิ่นฐานของคนจีนในเมืองสตูล ดังนี้
    ๑ . อาศัยอยู่ในเขตมำบังนังคะรา และตำบลบ้านจีน (ฉลุง )                    ๖๔๒  คน
    ๒ . อาศัยอยู่ในตลาดสุไหงอุเปะห์ หรือย่านชุมชนตลาด                         ๔๕๖  คน
    ๓ . อาศัยแถบชายทะเล และตามหลุมถ่าน                                           ๒, ๕๔๑ คน
    ๔ . ประกอบอาชีพทำสวนพริกไทยที่สุไหงอุเปะห์                                ๑ , ๐๔๑ คน
        จะเห็นได้ว่าคนจีนประกอบอาชีพตามชายทะเล ๒ ,๕๔๑ คน ได้แก่อาชีพประมง ตัดฟืนเผาถ่าน เป็นพ่อค้าตามบริเวณท่าเรือ เป็นที่สังเกตคือมีคนจีนอาศัยอยู่ที่ตลาดทุ่งหว้า ๔๕๖ คน
ทำสวนพริกไทย ๑ ,๐๔๑ คน เบ็ดเสร็จมีชาวจีนปักหลักประกอบอาชีพที่ทุ่งหว้าร่วม /,๔๙๑ คน ขณะที่คนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ในตัวเมืองกับตำบลบ้านจีน เพียง ๖๔๒ คน คนจีนที่อพยพมาจากปีนังวล้วนมีเชื้อสายฮกเกี้ยน กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสตูลเชื้อสายจีนทุกวันนี้ หลายตระกูลยังมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่ที่เกาะปีนัง หรือบางรัฐในมาเลเซีย ยังคงไปมาหาสู่กันตามโอกาส  กลายเป็นญาติระหว่างประเทศหรือชายแดนมาช้านาน
    แหล่งที่มา : หนังสือแผ่นดินเมืองสตูล กับ ๙ ตระกูลดัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น