วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มรดกทางวัฒนธรรม

มรดกทางวัฒนธรรม
            มรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสตูล คล้ายกับมรดกทางวัฒนธรรมของ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้
อาหารการกิน
            แบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยอิสลาม และชาวจีน ในที่นี้จะกล่าวถึงอาหารที่ใช้ในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนาของทั้งสามกลุ่มดังกล่าวข้างต้น
            อาหารในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนาพุทธ  ในเทศกาลเดือนสิบของหวานจะมีขนมลา ขนมเจาะหู ขนมเทียน และขนมพอง ของคาวมี แกงไก่ใส่หน่อไม้ แกงส้ม แกงสมรม ส่วนผลไม้จะเป็นผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ลางสาด เงาะ ทุเรียน ฯลฯ
            อาหารในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม  อาหารที่นิยม ในงานบุญ และงาน แต่งงาน มีดังนี้
ของหวาน ได้แก่ ขนมกาเปด (โกยเปด) คล้ายกับทองม้วน ขนมบูหลู (ขนมไข่) ขนมโกยหยา (ขนมถั่วอัด) ขนมโกยจาไบ ขนมพริก ของคาว ได้แก่แกงแดง (แกงเผ็ด) แกงกุรม่า (แกงขาว) แกงปัจจาหัว ยำหอย อาจาด อาหารเหล่านี้จะทำกันเฉพาะในโอกาสพิเศษที่สำคัญ ๆ เท่านั้น เพราะมีวิธีการที่ค่อนข้างยุ่งยาก
            การปรุงอาหารมีลักษณะพิเศษคือ ใช้เครื่องเทศในอาหารคาวเกือบทุกชนิด ไม่ใช้น้ำปลาในการปรุงรส ใช้กะทิมะพร้าวเป็นเครื่องปรุง ใช้เนื้อล้วน ๆ ไม่ใช้ผัก และรสอาหารไม่จัด
            วิธีรับประทานอาหารของชาวไทยอิสลาม นิยมนั่งกับพื้นล้อมเป็นวง มีน้ำล้างมือ การรับประทานภายใจครอบครัวจะรับประทานพร้อมกัน เวลาในการรับประทานอาหาร จะสัมพันธ์กับการละหมาดด้วย ส่วนใหญ่จะละหมาดให้เสร็จก่อนแล้วจึงไปรับประทานอาหาร ส่วนการรับประทานอาหารในงานบุญนุหรี หรือในงานแต่งงาน จะแยกวงกันระหว่างชาย - หญิง ไม่รับประทานร่วมกัน
            ในการมาร่วมงาน แม่บ้านจะนำปิ่นโตหรือหม้อที่บรรจุข้าวสาร หรือน้ำตาลมาช่วยงาน เวลากลับเจ้าภาพจะแบ่งปันอาหารให้แขกนำกลับบ้านด้วย การเลี้ยงเจ้าภาพจะรับเลี้ยงตลอดวัน
            อาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชาวจีน  ประเพณีการเซ่นไหว้ของชาวจีนยังคงปฏิบัติกันอยู่อย่างเคร่งครัดปีละ ๓ ครั้ง คือ ในเทศกาลตรุษจีน เช็งเม้ง และสารทจีน อาหารที่ใช้เซ่นไหว้บรรพบุรุษ นอกจากเหล้าขาว น้ำชา หมู เป็ด ไก่ และผลไม้แล้วยังมีของคาวหวานอีกหลายอย่าง อาหารคาวจะเป็นอาหารที่ปรุงแบบผัด และต้ม ไม่มีแกง เช่น ต้มพะโล้ ผัดเครื่องในไก่ใส่เห็ด และไข่นกกระทา ผัดยี่หู่ อันประกอบด้วย หมูสามชั้น ปลาหมึก กล่ำปลี และหัวมันแกว แกงจืด ฯลฯ อาหารไม่นิยมรสจัด ส่วนผลไม้ที่ใช้เซ่นไหว้ ได้แก่ องุ่น แอปเปิล สาลี่ ส้มเกลี้ยง ส้มโอ แตงโม สับปะรด เงาะ มะม่วง ละมุด ฯลฯ สำหรับของหวานจะได้แก่ ขนมกาเปด ขนมเข่ง ขนมปังเกด ขนมอาปบ ขนมเต่า เหนียวเขียว (ข้าวเหนียวอัด) ฯลฯ

การแสดงดาระ

            ดาระ เป็นศิลปการแสดงประเภทรำพื้นเมืองของชาวไทยอิสลาม ที่มีเฉพาะภายในจังหวัดสตูล มีความเป็นมาที่เก่าแก่ เนื้อเพลงมีหลายภาษา และมีความสัมพันธ์กับศาสนาอิสลาม ปัจจุบันหาชมได้ยาก ดาระน่าจะมีถิ่นกำเนิดในแถบภาคตะวันออกกลาง ผ่านอินโดนีเซีย มาเลเซีย เข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดสตูล หลังสงครามมหาเอเซียบูรพา การแสดงดาระได้ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมจนเกือบจะสูญหายไป
            ในอดีตคนในหมู่บ้านจะนิยมรำดาระเพื่อความบันเทิง หลังจากทำงานหนักมาตลอดวัน มีผู้จัดตั้งเป็นคณะรำดาระเป็นอาชีพ ทุกงานที่เป็นงานมงคลจะจัดให้มีการแสดงดาระเสมอ เช่นงานแต่งงาน งานเข้าสุหนัด งานขึ้นบ้านใหม่ พิธีลาซัง งานเมาลิด วันฮารีรายอ และงานรื่นเริงต่าง ๆ
            ดาระแสดงได้ทุกที่ เช่นในท้องนา ลานบ้าน ใต้ถุนบ้าน หรือบนเวที แล้วแต่โอกาสและความสดวก ปัจจุบันการแสดงดาระหาชมได้ยาก จะแสดงเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น
            การแสดงดาระจะรำเป็นคู่ ๆ ไม่จำกัดจำนวน เดิมผู้แสดงเป็นชายล้วน แล้วแต่งคู่รำให้เป็นหญิง ต่อมาจึงเป็นชายจริงหญิงแท้ การแสดงจะเป็นลักษณะของการร่ายรำ หัวใจสำคัญอยู่ที่ความพร้อมเพรียง ท่ารำดาระแต่เดิมมีมากถึง ๔๔ เพลง ถือท่ารำ ๑ ท่าต่อเพลง ๑ เพลง ปัจจุบันนิยมแสดงเพียง ๖ - ๙ เพลง การแสดงดาระจะรำหลาย ๆ เพลงติดต่อกัน เช่นเดียวกับรองเง็ง และรำวงมาตรฐาน เริ่มจากเพลงไหว้ครูทุกครั้ง และจบด้วยเพลงอำลา ท่ารำดาระมีท่านั่งรำ และท่ายืนรำ เริ่มแสดงโดยผู้แสดงออกมานั่งเรียงหน้ากระดานเป็นคู่ ชาย - หญิง การแสดงท่ารำของแต่ละเพลง มีการเดินวนแปรแถวในลักษณะต่าง ๆ ความสวยงามอยู่ที่การเคลื่อนไหวมือและเท้าตามจังหวะกลองรำมะนา ที่มีจังหวะช้า - เร็ว สลับกัน
            ผู้รำดาระส่วนใหญ่จะแต่งกายแบบพื้นเมือง คือผู้ชายสวมหมวกไม่มีปีก หรือบางทีก็สวมผ้าโพกศีรษะแบบเจ้าเมืองมลายูสมัยก่อน สวมเสื้อคอตั้งแขนยาวผ่าครึ่งอก นุ่งกางเกงขายาวขากว้างคล้ายกางเกงจีน สีเดียวกับเสื้อ แล้วใช้ผ้าโสร่งที่มีลวดลายสวยงาม ทับกางเกงและชายเสื้ออีกครั้งหนึ่ง โดยให้โสร่งยาวเหนือเข่า ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอก แบบเข้ารูปปิดสะโพก ผ่าอกตลอด ติดกระดุมทองเป็นระยะ นุ่งผ้าปาเต๊ะยาวา ยางกรอมเท้าใช้ผ้าบาง ๆ คลุมไหล่เรียกว่าผ้าสไบ มีเครื่องประดับด้วยทองรูปพรรณชนิดต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม
            เครื่องดนตรีที่ใช้มีเพียงอย่างเดียวคือกลองรำมะนา จะใช้กี่ใบก็ได้ แต่โดยทั่วไปนิยมใช้เพียง ๔ ใบ มีผู้ตีซึ่งเป็นนักร้องและลูกคู่ ๔ คน ทำนองเพลงสูง ๆ ต่ำ ๆ มีท่วงทำนองสั้น ๆ ง่าย ๆ ร้องวนเวียนไปมากี่เที่ยวก็ได้ โดยแบ่งบทเพลงออกเป็นสองส่วน คือเนื้อเพลง และสร้อยเพลง เนื้อเพลงมีภาษาอาหรับพื้นเมือง ภาษาฮินดี ภาษาชวา ภาษาชาวเกาะซีลีเบส และภาษาไทย เนื้อหาของเพลงเริ่มตั้งแต่การกล่าวสรรเสริญพระเจ้า การคารวะผู้ชม กล่าวถึงปรัชญาในการดำเนินชีวิต และกล่าวลา ตัวอย่างเนื้อเพลงที่ถอดออกเป็นภาษาไทย เป็นดังนี้
            เพลงที่ ๑  มีเนื้อความว่า ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งนำทางและส่องสว่างแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นมีศาสดาเป็นผู้นำมาซึ่งสัจธรรม
            เพลงที่ ๒  มีเนื้อความว่า คาระวะถึงท่านผู้เป็นเจ้าของถิ่นฐาน ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ที่ประตูถูกเปิดออกข้างหน้านี้ เราดั้นด้นมาถึงระยะทางที่แสนไกล จากดินแดนต่างถิ่นที่เรียกว่ามลายู เรามิได้หมายความว่าจะเป็นผู้รู้เป็นครูหรือผู้สอนสั่ง และแน่นอนสิ่งที่ส่งสู่ท่านคือความสันติ ทั้งยังหวังว่าไมตรีที่เสนอนี้คงไม่ถูกปฏิเสธ
            เพลงที่ ๓  มีเนื้อความว่า คุณลักษณะแห่งความบริสุทธิ์ และสายสัมพันธ์ของการเป็นพี่น้องกัน ได้มียอดหญิงผู้หนึ่งสืบทอดเจตนารมย์อันบริสุทธิ์อย่างเหนียวแน่น ผู้นั้นคือ ฟาติมะ ธิดาของท่านศาสดา ผู้มีจุดยืนอย่างมั่นคง และถ่ายทอดแบบอย่างนั้น เพื่อให้สตรีเจริญรอยตาม จนเรียกว่ากุลสตรี จงปฏิบัติแม้แบบอย่างนี้ผ่านมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม
            เพลงที่ ๔  มีเนื้อความว่า จงสังเกตการกระพือปีกของหมู่นก ที่บินข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เพียงเพื่อแสวงหาปัจจัยยังชีพ อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงเผ่าพันธุ์ และมนุษย์ก็มิได้มีวิถึชีวิตที่แตกต่างจากมันเลย
            เพลงที่ ๕  มีเนื้อความว่า พระเจ้าแห่งข้าผู้เป็นใหญ่เหนือสิ่งใด อภัยเถิดหากนำหลักฐานเหล่านี้มาอ้าง ในทางที่ต้องย่างเท้าก้าวไป เพื่อค้นหาสัจธรรมจากพระองค์ผู้ประทานมา
            เพลงที่ ๖  มีเนื้อความว่า โลกคือโลก ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวเองว่าเป็นความไพศาล และเป็นสัจธรรมอันหยั่งรู้ได้ยาก หากมีความท้อคอยยอมแพ้แก่สิ่งนั้น แต่การอยู่อย่างผู้มีชัยนี้ยากยิ่ง
            เพลงที่ ๗,๘  ถอดความไม่ได้
            เพลงที่ ๙  เป็นเพลงอำลามีความว่า เหนือแผ่นดินดันอุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารนี้ มีโชคลาภโปรยหว่านอยู่สุดพรรณา ข้าจำใจจากถิ่นนี้แล้ว และเดินทางกลับโดยอาศัยสายน้ำ ด้วยความห่วงอาลัยในการจาก หากข้าสามารถในการถอดดวงใจ วางไว้เบื้องหน้าท่านได้ ข้าก็จะถอดไว้เพื่อเป็นพยานยืนยันในความมีเจตนาบริสุทธิ์นี้

ประเพณีลอยเรือของชาวเล
            การลอยเรือเป็นประเพณีของชาวเล (ชาวน้ำ) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่เกาะอาดัง ในเขตอำเภอเมืองฯ ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของมลายู ชาวเลได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ชาวเลมีนิสัยชอบอยู่เป็นอิสระ ไม่ชอบคบค้าสมาคมกับชนกลุ่มอื่น ชอบรวมอยู่เป็นพวกเดียวกัน มีการอพยพเคลื่อนย้ายไปหากินไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีแบบแผนประเพณีและภาษาของตนเอง เดิมเป็นชนที่ไม่มีศาสนา เชื่อในเรื่องผีสางวิญญาณ
            ประเพณีลอยเรือของชาวเลในจังหวัดสตูล ทำที่หมู่เกาะหลีเป๊ะได้ทำกันมานานแล้ว จุดมุ่งหมายในการทำพิธีลอยเรือก็คือ เพื่อการลอยบาป และเป็นการเสี่ยงทายในการประกอบอาชีพ การลอยเรือจะทำปีละสองครั้ง โดยทำในเดือน ๖ และในเดือน ๑๒
            ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ของเดือน ๖ และเดือน ๑๒ ชาวเลจะหยุดงานทุกชนิด เพื่อเตรียมขนมและข้าวตอกดอกไม้ไหว้ทวด และเตรียมปัดกวาดบริเวณ หลาทวด เมื่อเสร็จประมาณบ่ายสามโมง ชาวเลทั้งหมดจะไปพร้อมกัน ณ บริเวณพิธีโดยไปยืนล้อมรอบ หลาทวด โดยมีพิธีกรประจำหมู่บ้านที่เรียกว่าโต๊ะหมอ เป็นผู้ประกอบพิธี
            พิธีจะเริ่มโดยบรรดาชาวเลทั้งหลาย จะนำข้าวตอกดอกไม้ และขนมไปวางบนหลาทวด และจุดธูปเทียนอธิษฐาน เพื่อให้ดวงวิญญาณ ทวดมีความสุข และขอความเป็นสิริมงคลให้ตนเอง จากนั้นทุกคนจะเสี่ยงเทียนคือ อธิษฐานขอให้เป็นเครื่องชี่บอกชะตาของตน และครอบครัว พร้อมทั้งการประกอบอาชีพ เมื่ออธิษฐานจบแล้ว จะมีการเต้นลงปง ซึ่งเป็นการเต้นรำเป็นรูปวงกลมรอบ ๆ บริเวณหลาทวด โดยมีเครื่องดนตรีประกอบคือ รำมะนา และไวโอลิน
            ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ตั้งแต่เช้าตรู่ ชายฉกรรจ์ส่วนหนึ่งจะไปหาไม้ระกำ เพื่อเตรียมทำเรือเพื่อลอยใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ การเล่นสนุกสนานด้วยการร้องรำทำเพลง จะเริ่มขึ้นในตอนค่ำ กล่มหนึ่งจะเตรียมสถานที่ตกแต่งให้สวยงามบริเวณหน้าเกาะ อีกกลุ่มหนึ่งแต่งตัวสวยงามด้วยผ้าหลากสี เพื่อรับขบวนเรือบรรทุกไม้ระกำ กลุ่มนี้จะลงเรือพร้อมกับพวกดนตรี อีกกลุ่มหนึ่งหาไม้มาดเรือเพื่อเตรียมสร้างเรือจากไม้ระกำ ต้องหามมาดเรือวนรอบบ้านของหัวหน้าหมู่บ้าน แล้วมาวางไว้ในบริเวณที่จะประกอบเรือ เพื่อรอขบวนเรือบรรทุกไม้ระกำต่อไป เมื่อขบวนเรือแห่ไม้ระกำมาถึง ก็จะลำเลียงไม้ระกำขึ้นบก จัดขบวนแห่รอบบ้านหัวหน้า และนำไม้ระกำมาประกอบเรือจนเสร็จ ประดับประดาให้เรียบร้อยเตรียมไว้ลอยในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ
            ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พิธีจะเริ่มตั้งแต่ย่ำรุ่ง ชาวเลทั้งหมดจะทะยอยมายังชายหาด บริเวณพิธีจะมีการลอยเรือ ทุกคนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสี แล้วนำเอาขนม และข้าวตอกไปวางในเรือพร้อมกับตัดเล็บ และตัดผมใส่ลงไปในเรือด้วย เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เมื่อแสงอาทิตย์เริ่มจับขอบฟ้า ทุกคนก็จะอธิษฐานแล้วหามเรือลุยลงไปในทะเล ให้ห่างจากฝั่งพอสมควร จากนั้นก็ปล่อยเรือลงทะเลไปเป็นอันเสร็จพิธีลอยเรือ

แหล่งอ้างอิง : http://heritage.mod.go.th/nation/oldcity/satun4.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น