วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แหล่งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญ

๑. วัดชนาธิปเฉลิม  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง เดิมชื่อ วัดมำบัง ปี พ.ศ ๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อเป็น วัดชนาธิปเฉลิม

๒.  วัดมงคลมิ่งเมือง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ชาวบ้านนิยมเรียกวัดป่าช้าจีน เดิมอยู่บริเวณ สุสานจีน

๓.  ตึกแถวถนนบุรีวานิช สร้างขึ้นเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน

๔.  เขาโต๊ะพญาวัง เป็นเขาหินปูนขนาดเล็ก มีถ้ำหินงอกหินย้อยอยู่ภายในบริเวณเชิงเขา เทศบาลใช้ตกแต่งเป็นสวนสาธารณะ

๕.  บ้านพักพักพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ใช้เป็นบ้านพักของท่านสมัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล

๖.  ป่าชายเลน เป็นตัวอย่างป่าชายเลนที่ทางส่วนราชการประกาศใช้ให้เป้นป่าตัวอย่าง



วัดชนาธิปเฉลิม

ถนนบุรีวานิช

วัดมงคลมิ่งเมือง

ป่าชายเลน

เขาโต๊ะพญาวัง สตูล

บ้านพระยาสมันตรัฐบุรินทร์








วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประวัติพระยาภูมินารถภักดี เจ้าผู้ครองนครสโตย


        มหาอำมาตย์ตรีพระยาภูมินารถภักดี เดิมชื่อ ตนกู บาฮารุดดิน บินกูแมะ  เป็นบุตรคนที่ ๖ ของนายกูแมะและนางเจ๊ะจิ เกิดที่ตำบล อลอร์สตาร์ อำเภอออลร์สตาร์ รัฐเคดะ (ไทรบุรี) เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๑ มีพี่น้องร่วมบิดา ๗ คนเป็น ชาย ๔ คน หญิง ๓ คน พระยาภูมินารถภักดีมีภรรยา ๔ คน มีบุตรธิดา ๗ คน โดยสมรสกับนางสาวเจ๊ะโสมมีบุตรด้วยกัน ๑ คน สมรสกับนางสาวเจ๊ะด๊ะมีบุตรด้วยกัน ๑ คน สมรสกับนางสาวเจ๊ะเต๊ะเชื้อสายคนจีนชาวตำบลฉลุง (บ้านจีน) มีบุตรด้วยกัน ๒ คน ต่อมาสมรสกับนางสาวหวันเต๊ะฮะอุรามีบุตรธิดาด้วยกัน ๓ คน พระยาภูมินารถภักดี คือ ต้นตระกูล บินตำมะหงง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในจังหวัดสตูล
        ตนกูบาฮารุดดิน เริ่มชีวิตการรับราชการด้วยการเป็นเสมียน ต่อมาดำรงตำแหน่งพัศดีเรือนจำที่เมืองอลอร์สตาร์ หลังจากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองชั้นสูงทางฝ่ายไทรบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ เมืองไทรบุรีได้ส่งตนกูบาฮารุดดิน มาช่วยราชการเมืองสตูล เนื่องจากพระยาอภัยนุราชเจ้าเมืองสตูลป่วย ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองให้เกิดผลดีได้ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สตูลว่างเจ้าเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองไทรบุรี เปอร์ลิส และสตูล เป็นเขตการปกครองเดียวกัน ขึ้นต่อมณฑลภูเก็ตและทรงแต่งตั้งตนกูบาฮารุดดิน ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าเมืองสตูล สืบต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๓ โดยให้ลงนามลงในหนังสือราชการว่า 
"ตนกูบาฮารุดดินบินกูแมะ"ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯเป็นหลวงอินทรวิชัยและพระยาอิินทรวิชัย ตามลำดับ
        ตำแหน่งสุดท้ายคือ มหาอำมาตย์ตรี พระยาภูมินารถภักดี จางวาง กำกับเมืองสตูล ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสตูลอยู่ ๑๔ ปี ออกจากราชการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ และถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๕ อายุรวม ๘๓ ปี ได้ทำพิธีฝังศพที่สุสานมากามาฮา ซึ่งเป็นที่ดินของท่านที่ได้อุทิศไว้สำหรับฝังศพชาวมุสลิมทั่วไปด้วย สุสานแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า สุสานพระยาภูมินารถ ตั้งอยู่ที่ถนนสตูลธานี ซอย ๑๗ (กูโบร์)
    ผลงานหรือเกียรติคุณที่ได้รับ
         แม้ว่าจะมิได้สืบสายเจ้าเมืองสตูลเดิม แต่ท่าน ตนกูบาฮารุดดินบินกูแมะ ฏ้เป็นนักปกครองที่มีความสามารถ ท่านรู้แตกฉานทั้งภาษาไทยและภาษามลายู จึงสามารถประสานความร่วมมือทั้งท้องถิ่นและทางราชการได้ดี ในยุคที่ตนกูบาฮารุดดินเป็นเจ้าเมือง เมืองสตูลมีความเจริยขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจได้ผลจากการค้ารังนกและพริกไทยเป็นอันมากทั้งยังเป็นศูนย์กลางรับซื้อขายสินค้าทั้งจากปีนังและภูเก็ต จนทำให้เมืองสตูลได้ชื่อว่า "นัครีสะโตยมัมบังสการา"(Negeri Setol Mum Bang Segara) หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า สตูล เมืองแห่งพระสมุทรเทวา และเป็นหัวเมืองที่มีความสำคัญมากในยุคนั้น กล่าวกันว่าท่านมีความสนิทสนมกับทางราชการกรุงสยามเป็นพิเศษ ถึงกับสั่ง"บุหงามาศ"
เครื่องราชบรรณาการถวายต่อราชสำนักสยามโดยตรง โดยไม่ผ่านเมืองไทรบุรี
       เมืองสตูลได้แยกจากเมืองไทรบุรีอย่างเด็ดขาด ตามหนังสือสัญญาไทยกับอังกฤษ เรื่องปักปันเขตแดนระหว่าง ไทยกับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ.๑๒๗
(พ.ศ.๒๔๕๒) จากหนังสือสัญญานี้ ยังผลให้ไทรบุรีและเปอร์ลิสตกเป็นของอังกฤษส่วนสตูลคงเป็นไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน 
            "พระยาภูมินารถภักดี"เคยใช้กุศโลบายอันแยบยล รักษาพื้นที่ "เกาะตะรุเตา อาดังราวีและเกาะหลีเป๊ะ"ให้ยังคงอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทยไม่ตกไปอยู่ในมือเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่พยายามจะล้ำเส้นเขตแดนเข้ามาฮุบไป...ถ้าไม่มีเจ้าเมืองสตูลที่มีความสามารถรอบคอบอย่างท่าน ป่านนี้เกาะหลีเป๊ะอันแสนงาม คงอยู่ในเขตประเทศมาเลเซียเหมือนเกาะลังกาวีแล้ว 
            พระยาภูมินารถภักดี เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดินไทยบริหารบ้านเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ราษฎรอยู่กันอย่างสงบสุข มีความเจริญก้าวหน้า บ้านพักของพระยาภูมนารถภักดี คือที่ตั้งโรงแรมพินาเคิลวังใหม่ทุกวันนี้ ชาวสตูลสมัยก่อนนิยมเรียก วังเก่า หมายถึง คฤหาสน์ หรือ จวน ของผู้ว่าราชการเมือง หรือเจ้าเมือง เมืองสตูลถูกปกครองด้วยเชื้อสายของพระยาไทรบุรี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๒-๒๔๔๓ เป็นเวลากว่า ๖๐ ปี พระยาภูมนารถภักดีจึงเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูลคนแรกที่เป็นคนธรรมดาสามัญ ไม่มีเชื้อสายของเจ้าพระยาไทรบุรีแต่อย่างใด พระยาภูมินารถภักดี เป็นนักปฏิรูปบ้านเมืองจนพัฒนาเมืองสตูลขึ้นต่อมณฑลภูเก็ต มีพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑล เป็นผู้นำสำคัญอยู่ด้วย